วันปิยมหาราช 2566 น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ “เลิกทาส เป็นไท”

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้มอบอิสระคืนสู่คนไทยด้วยการยกเลิกการขายทาสจนสามารถพลิกฟื้นความเจริญรุ่งในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเหตุการณ์สำคัญของชาติ หน่วยงานราชการจึงประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า “วันปิยมหาราช”

ประวัติวันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างความโศกเศร้าสะเทือนใจให้แก่ปวงชนชาวไทยจำนวนมาก โดยในปลายชีวิตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง หลังจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พระอาการทรุดลงตามลำดับ สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 42 ปี

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หน่วยงานราชการในขณะนั้นได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ โดยใช้ชื่อว่า “วันปิยมหาราช” ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้ถวายพระสมัญญานามว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงคำนึงถึงประโยชน์ของคนในประเทศก่อนเสมอ

ขณะนั้นเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยร่วมด้วยสำนักพระราชวังได้จัดให้สักการะและตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์อย่างงดงาม ประกอบด้วยราชวัติฉัตร 5 ชั้น โคมไฟระย้า พร้อมถวายเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นประจำทุกปี พิธีในวันปิยมหาราชจึงสืบทอดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

โดยพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันปิยมหาราชครั้งแรกเกิดขึ้นต่อจากปีที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรัชกาลที่ 6 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

ครั้นเมื่อครองราชย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของปวงชน ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณหลายประการ อาทิ การปกครองบ้านเมือง พัฒนาการศึกษา การศาล การทหาร การต่างประเทศ โดยเฉพาะการเลิกทาสที่เป็นการคืนอิสรภาพและความสุขแก่ปวงชน จึงได้สร้างเป็นอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าเพื่อเป็นสัญลักษณ์อันทรงคุณค่าของคนไทย

พระบรมรูปทรงม้า สัญลักษณ์แห่งวันปิยมหาราช

สืบเนื่องจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ และปวงชนชาวไทยต้องการแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจึงร่วมใจกันนำเงินสร้างอนุสาวรีย์ถวายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช

ตั้งประดิษฐานเมื่อ พ.ศ.2451 ณ พระลานหน้าพระราชวังดุสิต ระหว่างพระราชวังสวนอัมพรกับบสนามเสือป่า ทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม มีพระราชพิธีเปิดพระบรมรูปอย่างยิ่งใหญ่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ตรงกับวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกครองราชสมบัติได้ 40 ปี

พระราชกรณียกิจสำคัญ

พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ เพื่อทอดพระเนตรการบริหารบ้านเมืองและวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศแถบยุโรป เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของพระราชกรณียกิจที่สำคัญหลายด้านของพระองค์ เช่น

  • การทหารและการปกครองประเทศ ทรงนำแบบอย่างทางทหารของประเทศแถบยุโรปมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย มีการจัดตั้งกรมเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกและทหารเรือ ตลอดจนส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการทหารในทวีปยุโรป
  • การปกครองประเทศ ทรงให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ แยกหน่วยราชการออกเป็นกรมกองต่าง ๆ จากเดิมมี 6 กระทรวง และได้เพิ่มอีก 4 กระทรวง รวมเป็น 10 กระทรวง ในส่วนภูมิภาคทรงให้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นเป็นครั้งแรก และให้อยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย
  • เศรษฐกิจและการคลัง ทรงให้มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินขึ้น โดยทรงให้แยกเงินแผ่นดินและเงินส่วนพระองค์ออกจากกัน และทรงให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรก คือ ธนาคารสยามกัมมาจล
  • การศึกษา ทรงให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จัดการเรียนการสอน แล้วขยายออกไปทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อให้ทั่วถึงประชาชน ทำให้การศึกษาของไทยได้รับการพัฒนา
  • การต่างประเทศ พระองค์ได้เห็นถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระองค์ยังทรงเสด็จประพาสประเทศต่าง ๆ เพื่อนำวิทยาการสมัยใหม่มาพัฒนาประเทศ
  • การคมนาคมและสาธารณูปโภค ทรงให้สร้างถนนขึ้นหลายสายและทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างสะพานข้ามคลองและทางรถไฟหลายแห่ง เช่น สะพานเฉลิมสวรรค์เฉลิมศรี ทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เป็นต้น
  • สาธารณูปโภค ทรงมีพระราชดำริว่าประชาชนควรมีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค พระองค์จึงทรงให้ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นด้วยทรงอยากให้ประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงพยาบาลวังหลัง ปัจจุบันคือโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นสถานที่สำหรับรักษาประชาชนที่เจ็บป่วย
  • ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยเป็นครั้งแรก และทรงให้มีการตราพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เป็นฉบับแรกด้วย ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น ในสมัยของพระองค์ส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากตะวันตก เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จประพาสยุโรป จึงนำสถาปัตยกรรมตะวันตกมาผสมผสานกับของไทยได้อย่างงดงาม เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชวังสวนดุสิต และกระทรวงกลาโหม

“เลิกทาส” ให้เป็นไท

พระราชกรณียกิจอีกประการที่สำคัญยิ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การเลิกทาส พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการเลิกทาสให้เป็นไท ตั้งแต่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยทรงไม่ต้องการให้มีการกดขี่เหยียดหยามคนไทยด้วยกันเอง และทรงเห็นว่าการมีทาสเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เหมาะกับประเทศที่เจริญแล้ว

พระองค์ได้ปรึกษาราชการแผ่นดินในหลายฝ่าย เพื่อหาวิธีไม่ให้มีเหตุกระทบกระเทือนต่อตัวทาสและเจ้าของทาส ดังนั้นในปี พ.ศ.2416 พระองค์ได้ทรงตราพระราชบัญญัติทาส ห้ามคนที่เกิดในรัชกาลปัจจุบันเป็นทาส และต่อมาพระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสลูกไท ณ วันที่ 18 ต.ค.2417 ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทำให้ทรงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการปลดปล่อยทาสให้เป็นไทโดยไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อแม้แต่หยดเดียว

นอกจากนี้ การเสด็จประพาสต้น ก็เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการเสด็จพระราชดำเนินเป็นการลับทางรถไฟ หรือทางเรือ ทรงแต่งพระองค์อย่างสามัญชน เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ต.ค.2453 สิริรวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ ด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ และเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย สมกับพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ซึ่งแปลความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

ทั้งนี้ ในวันที่ 23 ต.ค.ของทุกปี ประชาชน ข้าราชการ และหน่วยงานต่าง ๆ จะวางพวงมาลาถวายเป็นราชสักการะ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

Author: ภัทรหทัย ทองอยู่

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *